เกริ่นนำ
ปัจจุบันข้อมูลความรู้รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เอกสารหรือข้อมูลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมากคือข้อมูลต่างที่อยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นผ่านโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มใหญ่ยังคุ้นเคยกับการศึกษาความรู้และข้อมูล รวมทั้งตำราที่มีลักษณะรูปแบบหนังสือ บทความนี้จะแนะนำให้รู้จักกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
รูปแบบของไฟล์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
เอกสารหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นั้นจะถูกจัดเก็บในรูปแบบไฟล์ ซึ่งไฟล์เหล่านี้มีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้
รูปแบบนี้เป็นรูปแบบของเอกสาร/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบง่ายที่สุด ไฟล์รูปแบบนี้จะลงท้ายด้วย .txt เหมาะสำหรับหนังสือหรือเอกสารที่ประกอบด้วยข้อความอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บรูปภาพในไฟล์ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดรูปแบบตัวอักษร หรือรูปแบบเอกสารได้ ข้อดีของรูปแบบนี้คือเป็นมาตรฐานแบบเปิดที่ใช้กันมานาน สามารถเปิดอ่านได้ด้วยโปรแกรมหลากหลาย
รูปแบบ EPUB หรือรูปแบบ Electronic Publication เป็นรูปแบบหนึ่งของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในวงกว้าง รูปแบบนี้พัฒนามาจากรูปแบบ Open eBook (OEB) ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดย International Digital Publishing Forum (IDPF) ได้นำ OEB มาปรับปรุงและประกาศรูปแบบใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในชื่อ EPUB 2.0 มาตรฐาน EPUB ปัจจุบันคือ EPUB 3.2 ซึ่งออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2562
รูปแบบ EPUB นี้รองรับการจัดหน้าตาเอกสารทั้งในแบบ reflowable คือสามารถเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางไปตามขนาดของหน้าจอแสดงผล และแบบ fixed-layout คือไม่เปลี่ยนการจัดวางตามขนาดจอแสดงผล
รูปแบบ EPUB นี้เป็นมาตรฐานแบบเปิด สามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ รองรับรูปภาพสี กราฟิกแบบ SVG รวมทั้งภาพเคลื่อนไหว อีกทั้งสามารถเปิดไฟล์ประเภทนี้ผ่านอุปกรณ์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่
รูปแบบนี้พัฒนามาจากรูปแบบ Open eBOOK (OEB) โดยบริษัทสัญญาติฝรั่งเศสชื่อ Mobipocket เพื่อใช้งานกับชุดโปรแกรมอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทเองที่ชื่อ Mobipocket Reader ชุดโปรแกรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นี้สามารถใช้งานได้ฟรีทั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 บริษัทอเมซอนซื้อกิจการของบริษัท Mobipocket และยังคงให้บริการของระบบ Mobipocket ไปอีก 11 ปี จึงยุติบริการไป อย่างไรก็ตาม หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ MOBI ยังคงอยู่
รูปแบบนี้เป็นมาตรฐานแบบปิดของบริษัทอเมซอนที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทอเมซอนที่ชื่อว่าคินเดิล (Kindle) รูปแบบ AZW เป็นรูปแบบแรกที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ก็ออกมาตรฐานใหม่ชื่อว่า AZW3
เนื่องจากรูปแบบนี้เป็นมาตรฐานปิดของบริษัทอเมซอน จึงไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ AZW และ AZW3 ได้นั้นจะต้องใช้เครื่องอ่าน Kindle หรือโปรแกรม Kindle ของบริษัทอเมซอน เท่านั้น
PDF ย่อมาจาก Portable Document Format รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย รูปแบบนี้ถูกสร้างโดยบริษัทอะโดบีซิสเต็มส์ เมื่อปี พ.ศ. 2536 ในช่วงแรกนั้นรูปแบบนี้เป็นมาตรฐานแบบปิด ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ทางบริษัทก็อนุญาตให้เป็นมาตรฐานเปิด โดยให้คณะกรรมการ International Organization for Standardization (ISO) กำกับดูแลมาตราฐานนี้
เอกสารหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างในรูปแบบนี้จะมีข้อดีคือหน้าตาของเอกสารจะคงที่ไม่ว่าจะเปิดอ่านโดยอุปกรณ์ใดก็ตาม แต่ข้อดีนี้ก็เป็นข้อเสียเช่นกันคือเป็นรูปแบบที่ fixed-layout ทำให้รูปแบบการแสดงผลไม่เปลี่ยนตามขนาดหน้าจอของอุปกรณ์ที่เปิดอ่าน เช่น ถ้าไฟล์ต้นฉบับสร้างเป็นหนังสือขนาด A4 เมื่อนำไฟล์ดังกล่าวไปเปิดบนอุปกรณ์แสดงผลหน้าจอ 6 นิ้ว เอกสารบนหน้าจอแสดงผลจะเล็กมากจนไม่สามารถอ่านได้โดยง่าย
อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
เนื่องจากเอกสารหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ วิธีการอ่านไฟล์ดังกล่าววิธีหนึ่งคือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม แม้คอมพิวเตอร์จะเปิดไฟล์หนังสืออิเล็กรอนิกส์ได้ แต่ก็ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมเพราะไม่สามารถพกพาติดตัวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยง่ายแบบเดียวกับเอกสารหรือหนังสือที่เป็นกระดาษ ดังนั้น จึงมีอุปกรณ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถพกพาติดตัวได้โดยง่าย
เครื่องอ่านหนังสือโดยเฉพาะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่ออ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ อุปกรณ์ประเภทนี้มักจะใช้จอแสดงผลแบบพิเศษที่เรียกว่า e-ink โดยเทคโนโลยีนี้ถูกคิดค้นโดยสถาบันวิจัย MIT Media Lab ได้รับการจดสิทธิบัตรขึ้นในปี พ.ศ. 2539 จอแสดงผลแบบนี้ในระยะแรกจะประกอบด้วยอนุภาคสีขาวและอนุภาคสีดำเรียงตัวกับอยู่ในของเหลวในชั้นฟิล์มของหน้าจอ เมื่ออนุภาคได้รับสนามไฟฟ้าที่แตกต่างกันก็จะแสดงสีขาวหรือสีดำ จุดสีขาวหรือดำที่แตกต่างกันบนหน้าจอทำให้เกิดการแสดงผลรูปแบบต่าง ๆ ได้
ข้อดีของจอแสดงผลแบบ e-ink คือมีคุณภาพของจอภาพใกล้เคียงกับการพิมพ์บนกระดาษมาก การพิมพ์บนเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์โดยทั่วไปมีความละเอียด 300 dpi (dot per inch) ความละเอียดของจอแสดงผล e-ink ขาวดำ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ณ ปัจจุบันก็มีความละเอียด 300 dpi เช่นกัน ทำให้ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏมีลักษณะคมชัด ข้อดีอีกประการหนึ่งคือจอภาพ e-ink จะใช้พลังงานต่ำมาก จอภาพจะใช้พลังงานเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอเท่านั้น ทำให้เหมาะกับการอ่านหนังสือหรือเอกสารขาวดำ เพราะถนอมสายตา ภาพคมชัด ประหยัดพลังงาน ข้อเสียคือราคาจอภาพ e-ink ยังสูงอยู่ ส่วนจอแสดงผลแบบ e-ink ที่เป็นสีนั้นยังมีความละเอียดไม่สูงมากนั้น อยู่ที่ประมาณ 150 dpi และยังแสดงสีได้น้อย คือประมาณ 4096 สีเท่านั้น (เทียวกับ 16.7 ล้านสีบนจอคอมพิวเตอร์) อีกทั้งยังมีราคาสูงมากอีกด้วย
เนื่องจากจอภาพแบบ e-ink มีราคาสูง ทำให้เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เลือกใช้จอภาพที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่นขนาด 6-7 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับ pocket book
การใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตเพื่ออ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง หากต้องการใช้แท็บเล็ตเพื่อการอ่านเอกสาร/หนังสือ ควรเลือกแท็บเล็ตที่มีความละเอียดของจอแสดงผลไม่น้อยกว่า 200 dpi เช่น 212 dpi, 227 dpi หรือ 300 dpi เป็นต้น ส่วนขนาดของหน้าจอนั้น จอภาพขนาด 7.8 นิ้วจะใกล้เคียงกระดาษขนาด A5 สามารถอ่านหนังสือรูปแบบ pocket book ได้ดี หากต้องการอ่านเอกสารหรือหนังสือขนาด A4 ก็สามารถอ่านแนวนอนได้ ถ้าต้องการอ่านเอกสาร A4 ก็ควรจะซื้อรุ่นที่มีจอภาพขนาด 10 นิ้วขึ้นไปจะสามารถอ่านเอกสาร A4 แนวตั้งได้ง่าย
แอปพลิเคชันสำหรับอ่านหนังสือ
แอปพลิเคชันสำหรับอ่านหนังสือมีหลากหลาย แต่ละแอปมีลูกเล่นรวมทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน เช่น ReadEra หรือ Moon Reader เป็นต้น หรือถ้าต้องการอ่านหนังสือค่ายหนังสือใดก็ต้องลงแอปของค่ายนั้น ๆ เช่น Kindle, Meb, Hytests, Nalin เป็นต้น